UEN 202124754D

เมนู

การช่วยเหลือและเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้น

อ่านเรื่องราวฉบับเต็ม

คุณสงสัยไหมว่าคนที่ไม่มีหลักฐานยืนยันตัวตนหรือไม่มีใบเกิดจะเข้ารับการรักษาพยาบาลที่ไหน สำหรับคนที่อาศัยอยู่ในอำเภอสังขละบุรี ประเทศไทย เรื่องนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะไปรักษาที่ไหนได้ แต่ขึ้นอยู่กับว่าไปรักษากับใครได้ ดาไลโทว วัย 42 ปี ซึ่งเป็นพยาบาลที่มูลนิธิบ้านเด็กป่า (Children of the Forest Foundation) แต่เธอเป็นที่รู้จักดีในฐานะ “คุณหมอของคนยากไร้” คนในชุมชนจะเรียกหาเธอเมื่อพวกเขาต้องการความช่วยเหลือในการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะคนที่ไม่มีเอกสารยืนยันตัวตนทางการหรือบัตรประชาชน

ท้ายที่สุดแล้ว ใครจะช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบางเหล่านี้ได้ดีเท่ากับคนที่เคยผ่านเรื่องราวเดียวกันมาก่อน?

ดาไลโทวเป็นผู้มีสัญชาติพม่าและข้ามชายแดนมายังประเทศไทยเมื่อ 15 ปีที่แล้วเพื่อหางานทำ เธอไม่มีบัตรประชาชนไทย มีเพียงบัตรผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนที่ขึ้นต้นด้วยเลข 0 ซึ่งมอบสิทธิให้เธอเข้าถึงการรักษาพยาบาลฟรี แต่บัตรนี้ไม่อนุญาตให้เธอออกจากจังหวัดโดยไม่มีการยินยอมอย่างเป็นทางการ

ที่ผ่านมาเธอทำงานเป็นครูที่โรงเรียนอนุบาลโดยไม่มีสถานะทางทะเบียน ก่อนที่จะย้ายไปทำงานให้ความช่วยเหลือด้านพยาบาลที่ค่ายผู้อพยพใกล้เขตชายแดนไทย-พม่า แต่ตลอดช่วงเวลา 4 ปีที่ทำงานอยู่ที่นั่น เธอทำงานเป็นอาสาสมัคร นั่นหมายความว่า เธอไม่ได้รับเงินเดือนแต่ได้รับอาหารและที่พักแทน หลังจากนั้น เมื่อองค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Medicins Sans Frontier: MSF) ยุติการดำเนินงาน สถานการณ์ก็บีบบังคับให้ดาไลโทวต้องออกไปหางานใหม่อีกครั้ง

การตัดสินใจที่จะข้ามไปฝั่งไทยใช่เรื่องง่าย เธอได้พยายามถึง 3 ครั้ง แต่ในทุกครั้ง เธอก็กลับมาด้วยความกลัว และในที่สุดเธอก็ข้ามฝั่งได้สำเร็จในความพยายามครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นครั้งที่เธอได้เจอกับดาเนียล ผู้ก่อตั้งมูลนิธิบ้านเด็กป่า หลังจากนั้นไม่นาน ดาเนียลก็เสนอตำแหน่งงานพยาบาลที่คลินิกของมูลนิธิให้กับดาไลโทว โดยให้เงินเดือน 3,000 บาทแก่เธอ

นับแต่นั้นมา ดาไลโทวก็ได้พบเห็นเรื่องราวที่ยากลำบากเช่นเดียวกันกับเรื่องของเธอเอง ครั้งหนึ่งเธอได้ช่วยเหลือหญิงคนหนึ่งที่ตกเลือดหลังคลอด และทารกแรกเกิดของเธอก็ไม่หายใจหรือส่งเสียงร้อง โชคดีที่เธอช่วยชีวิตทั้งแม่และลูกไว้ได้ มีอีกเหตุการณ์หนึ่งที่เธอต้องช่วยชีวิตทารกวัย 11 เดือนที่ขาดสารอาหาร และเป็นอีกครั้งที่เธอช่วยชีวิตคนไว้ได้ เธอหาตำแหน่งเส้นเลือดของทารกเจอและฉีดกลูโคสให้กับเด็กน้อยได้สำเร็จ

นั่นก็เพียงพอแล้วที่จะกล่าวว่า ดาไลโทวได้สร้างชื่อให้กับตัวเธอเอง เธอเล่าว่าเมื่อไรก็ตามที่เสียงโทรศัพท์ดัง มักจะเป็นข่าวร้าย “ไม่เคยมีใครโทรมาบอกว่าคิดถึงฉันเลย” เธอพูดขำๆ

แต่ในขณะที่เธอมีส่วนสำคัญในชีวิตของหลายๆ คน เธอหวังว่าจะสร้างผลกระทบที่ใหญ่ขึ้นและยาวนานขึ้นในภูมิภาค เพื่อช่วยให้คนรุ่นต่อไปในสังขละบุรีมีบัตรประชาชนและการศึกษา เพื่อให้พวกเขาเข้าถึงสิทธิและบริการสุขภาพที่เหมาะสม

และทั้งหมดนี้ก็เริ่มจากการเกิดของเด็ก ซึ่งบังเอิญเป็นส่วนหนึ่งของงานที่ดาไลโทวรักที่สุด นั่นก็คือการทำคลอดเด็ก เธอได้ทำคลอดเด็กราว 50 คน และขอสูติบัตร (ทุกครั้งที่สามารถทำได้) เพื่อตัดวงจรการเกิดที่ไม่ได้ทำการแจ้งเกิดในครอบครัวของเด็กๆ เหล่านั้น

นอกจากนี้ เธอยังทำงานกับมูลนิธิเพื่อซื้อประกันสุขภาพที่โรงพยาบาลเพื่อให้เด็กๆ ได้รับการรักษาในราคาที่เอื้อมถึง ซึ่งหากไม่มีประกันสุขภาพนี้ บุคคลที่ไม่มีบัตรประชาชนก็จะไม่ได้รับสิทธิใดเลย

อาจมองได้ว่างานนี้ใช้ทั้งแรงกายและแรงใจของเธออย่างมาก และหากเป็นเช่นนั้นจริง ดาไลโทวก็ดูไม่เหน็ดเหนื่อยเลย “ฉันดีใจที่ได้ช่วยเหลือผู้คนมากมาย เป็นงานที่ดีที่สุดที่ฉันเคยทำมาเลย”

มูลนิธิอัลกอต เอเนอวัลเซ็น สนับสนุนมูลนิธิบ้านเด็กป่าโดยมุ่งหวังที่จะพัฒนาการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ การศึกษา และการปกป้องคุ้มครองแม่และเด็กที่ไม่ได้รับการจดทะเบียน รวมถึงผู้เปราะบางในชุมต่างๆ ของสังขละบุรี